ศรัทธาในการตรัสรู้

จากการที่พระเถระหลายท่านมาเยี่ยมเยือนสถานที่ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า พื้นที่แห่งนี้เหมาะแก่การตั้งสำนักปฏิบัติธรรมสำหรับพระภิกษุสงฆ์ ด้วยเนื้อที่ประมาณ 67 เอเคอร์ (170 ไร่) มีอาณาบริเวณกว้างขวางพอที่จะสร้างศาลา กุฏิ และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ โดยยังคงสภาพผืนป่าไว้ ก่อให้เกิดความวิเวก เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม นอกจากนี้ พื้นที่ด้านหลังยังลาดลงไปจรดแม่น้ำและหน้าผา ซึ่งให้ความสงบร่มเย็นและมีทัศนียภาพที่งดงาม
อนึ่ง ที่ตั้งวัดยังอยู่ไม่ไกลจากชุมชนมากนัก เหมาะที่พระภิกษุสงฆ์จะประพฤติข้อวัตรอันเป็นแบบแผนสำคัญซึ่งสืบทอดมาแต่ครั้งพุทธกาล และจัดเป็นการเลี้ยงชีพสำหรับพระภิกษุ ซึ่งก็ได้แก่การบิณฑบาตได้โดยสะดวก ต่างจากวัดหลายแห่งในประเทศแถบตะวันตกที่รักษาข้อวัตรปฏิบัตินี้ไว้ได้ยาก

ข้อวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดกับการดำรงชีพอย่างเรียบง่าย

พระกรรมฐานสายวัดป่าได้พยายามรักษาข้อวัตรปฏิบัติที่ดีงามไว้อย่างเคร่งครัด อาทิเช่น การฉันอาหารในบาตร การดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย และการรักษาพระวินัยโดยเคร่งครัด โดยได้ดำเนินรอยตามปฏิปทาของพระมหากัสสปเถระ ผู้เป็นเลิศในการถือธุดงควัตรเมื่อครั้งพุทธกาล

แม้ว่าข้อวัตรปฏิบัติเหล่านี้จะค่อย ๆ เลือนลางจางคลายไป หากแต่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 ยังมีพระกรรมฐานองค์สำคัญ ผู้เป็นที่รู้กันว่าท่านประพฤติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ได้ฟื้นฟูข้อวัตรปฏิบัติดังกล่าวขึ้นอีกครั้ง ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระเป็นที่ยอมรับกันว่าท่านได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุด และได้นำพาลูกศิษย์ของท่านอีกมากมายให้ประพฤติข้อวัตรปฏิบัตินี้จนได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุดดุจเดียวกัน

ชีวประวัติพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท)

พระโพธิญาณเถร นามเดิมว่า ชา ช่วงโชติ เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๑ ณ บ้านจิกก่อ หมู่ที่ ๙ ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ตามประวัติท่านมีจิตฝักใฝ่ธรรมมาแต่เด็ก บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อเดือนมีนาคม ๒๔๗๔ ได้ ๓ พรรษา แล้วก็ลาสิกขา อุปสมบทเป็นภิกษุเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ออกศึกษาปริยัติต่างถิ่นโดยเริ่มที่วัดสวนสวรรค์ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี การที่ท่านบวชแต่เยาว์วัยยังผลให้ท่านมีโอกาสศึกษาเล่าเรียนทางโลกเพียงแค่ชั้นประถมปีที่ ๑

หลวงพ่อชาเป็นผู้สนใจธรรมมาก ท่านมีความปรารถนาอยากรู้แจ้งเห็นจริงตามคำสอนของพระพุทธองค์ จึงเริ่มศึกษาธรรมจากสำนักต่าง ๆ หลายสำนัก ระยะแรกในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๔๘๖ ศึกษาปริยัติธรรมกับพระมหาแจ้ง วัดเค็งใหญ่ อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี และพระครูอรรถธรรมวิจารณ์ วัดหนองหลัก อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี ปี ๒๔๘๖ เมื่อโยมบิดาถึงแก่กรรม หลวงพ่อชาสิ้นภาระห่วงใย มองเห็นความเป็นอนิจจังของชีวิต หลังจากสอบนักธรรมเอกได้เกิดเบื่อหน่ายด้านปริยัติ พิจารณาว่าไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ประสงค์จะศึกษาด้านวิปัสสนาธุระบ้าง จึงออกธุดงค์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เพื่อค้นหาอาจารย์ที่จะสอนด้านวิปัสสนาธุระ โดยระยะแรกมุ่งหน้าไปจังหวัดสระบุรี-ลพบุรี ที่ลพบุรีมุ่งตรงไปที่สำนักวัดป่าของหลวงพ่อเภา แต่น่าเสียดายที่หลวงพ่อเภามรณภาพแล้ว เหลือแต่อาจารย์วันลูกศิษย์ จึงได้แต่ศึกษาระเบียบข้อปฏิบัติที่หลวงพ่อเภาวางไว้และจากอาจารย์วัน อาจารย์ที่สำคัญอีกองค์หนึ่งคืออาจารย์ชาวเขมร (ซึ่งธุดงค์จากเขมรมาไทย และมุ่งไปพม่า) เป็นผู้วางหลักแนวทางปฏิบัติโดยใช้หนังสือบุพพสิกขาวรรณนาวินัยกถา ซึ่งแต่งโดยพระอมรมภิรักขิต (เกิด) ในคณะธรรมยุตินิกาย หลวงพ่อชาจึงได้ใช้หนังสือบุพพสิกขาวรรณนาวินัยกถา เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ในวัดหนองป่าพงและสาขามาจนทุกวันนี้

ปี ๒๔๙๐ หลังจากจำพรรษาที่เขาวงกต อยู่ได้หนึ่งพรรษา ได้ทราบข่าวว่าท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต) เป็นผู้มีคุณธรรมสูงทั้งเชี่ยวชาญด้านวิปัสสนาธุระ มีประชาชนเคารพเลื่อมใสมาก จึงเดินทางมาที่วัดหนองผือนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร วันแรกย่างเหยียบเข้าสำนัก เห็นบริเวณร่มรื่น ปฏิปทาของพระภิกษุเคร่งครัดเป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธา หลวงปู่มั่นได้เทศนาสั่งสอนเกี่ยวกับหลักธรรม อาทิ ศีลนิเทศ ปัญญานิเทศ พละ ๕ อิทธิบาท ๔ ให้แก่หลวงพ่อชาและศิษย์จนเป็นที่พอหายสงสัย สิ่งที่น่าสังเกตคือ หลวงปู่มั่นไม่มีความคิดที่จะให้หลวงพ่อชาแปลงนิกายเป็นธรรมยุตินิกาย ท่านให้ข้อชี้แจงเป็นปรัชญาคมคายว่า ในความเป็นภิกษุที่แท้จริงไม่ได้มีนิกาย ทั้งหมดคือพระสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ ดังคำกล่าวของหลวงปู่มั่นต่อหลวงพ่อชาว่า “ ไม่ต้องสงสัยนิกายทั้งสอง ” หลังจากฟังเทศน์จากหลวงปู่มั่น หลวงพ่อชามีจิตอิ่มเอิบ เป็นสมาธิ และได้ยึดคำสอนปฏิปทาของท่านไว้เป็นแนวปฏิบัติต่อไป องค์ที่ตรัสว่า “ ทำตนให้ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรเสียก่อน แล้วจึงสอนคนอื่นทีหลัง จึงจักไม่เป็นบัณฑิตสกปรก ” ดังนั้น ไม่ว่าจะทำกิจวัตรอันใด เช่น กวาดวัด จัดที่ฉัน ล้างบาตร นั่งสมาธิ ตักน้ำ ทำวัตร สวดมนต์ เดินจงกรม ในระหว่างวันพระ ถือเนสัชชิกไม่นอนตลอดคืน หลวงพ่อชาลงมือทำเป็นตัวอย่างของศิษย์โดยถือหลักว่า “ สอนคนด้วยการทำให้ดู ทำเหมือนพูด พูดเหมือนทำ ” ดังนั้นศิษย์และญาติโยมจึงเกิดความเลื่อมใสเคารพยำเกรงในปฏิปทาที่หลวงพ่อดำเนินอยู่

ในระยะแรกของการมาอยู่ป่าพงค่อนข้างลำบาก ชาวบ้าน ญาติโยมผู้ศรัทธาเข้ามาสร้างวัดเป็นกระท่อมเล็ก ๆ ให้ได้อาศัย ไข้ป่าชุกชุม เพราะเป็นป่าทึบ เมื่อเจ็บป่วย ยารักษาก็หายาก โยมอุปัฏฐากยังน้อย อาหารการกินฝืดเคือง แต่กระนั้นหลวงพ่อก็ไม่เคยออกปากของญาติโยม แม้จะเลียบเคียงก็ยังไม่ยอมทำ ปล่อยให้ผู้พบเห็นพิจารณาด้วยตนเอง เดือนต่อมาเกิดสำนักชีขึ้นที่วัดเพื่อสนองคุณต่อโยมมารดาให้ได้ปฏิบัติธรรม โยมแม่พิมพ์จึงเป็นแม่ชีคนแรกของวัดหนองป่าพง และมีแม่ชีติดต่อกันมาถึงปัจจุบันเป็นจำนวนมากและทางวัดมีการแบ่งเขตสงฆ์เขตชีไว้เรียบร้อยไม่ก้าวกายปะปนกัน

วัดหนองป่าพงได้รับอนุญาตให้สร้างในปี ๒๕๑๓ ปี ๒๕๑๖ หลวงพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพงและได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ “ พระโพธิญาณเถร ” ปี ๒๕๑๙ สิ้นเงิน ๕ ล้านบาท ปี ๒๕๒๐ ได้เดินทางไปประกาศสัจธรรมในภาคพื้นยุโรปเป็นครั้งแรก ปี ๒๕๒๒ ได้เดินทางไปอังกฤษ อเมริกา แคนาดา เพื่อประกาศสัจธรรม เป็นครั้งที่ ๒

ปี ๒๕๒๕ หลวงพ่อชาอาพาธ เป็นโรคเกี่ยวกับสมอง มีอาการเวียนศีรษะความจำเสื่อม จนต้องผ่าตัดสมอง หลังจากการผ่าตัด ท่านไม่สามารถพูดได้ เคลื่อนไหวไม่ได้ ต้องอาศัยพระภิกษุในวัดช่วยปรนนิบัติเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด การบริหารวัดทั้งหมดมอบให้อาจารย์เหลื่อมเป็นผู้รักษาการแทน

หลวงพ่อชาถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๖

หลังจากที่ท่านได้รับการอุปสมบทอยู่กับหลวงปู่ชา ท่านอาจารย์อนันต์ฝึกฝนและประพฤติปฏิบัติตนภายใต้การดูแลของหลวงปู่อยู่ 4 ปี และเป็นพระที่ทำหน้าที่ดูแลอุปัฏฐากองค์หลวงปู่ชา หลังจากช่วงที่ท่านปลีกวิเวกและภาวนาอย่างอุกฤษฏ์ ท่านอาจารย์อนันต์ได้รับนิมนต์ให้ไปบุกเบิกสร้างวัดในพื้นที่จังหวัดระยอง ซึ่งก็คือ “วัดมาบจันทร์” ในขณะนี้

ปัจจุบัน ชื่อเสียงของท่านอาจารย์เป็นที่รู้จักในนาม “อาจารย์สายกรรมฐาน” มีพระจำนวนเพิ่มมากขึ้นที่เข้ามาอยู่ปฏิบัติภายใต้การดูแลและรับคำแนะนำจากท่าน

วัดป่าโพธิศรัทธา มีความภาคภูมิใจและสำนึกในพระคุณของท่านอาจารย์อนันต์ ซึ่งท่านเป็นเสมือนที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจและคอยชี้แนะอบรมบรรดาศิษยานุศิษย์

นามเดิม :  อนันต์ จันทร์อินทร์

บิดา :  ฟุ้ง จันทร์อินทร์

มารดา :  เสงี่ยม จันทร์อินทร์

เกิด : วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ ปีมะเมีย ณ ต.บ้านครัว อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี เป็นบุตรคนที่ ๓ ของครอบครัว จากจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๕ คน

อุปสมบท

เมื่อศึกษาจบถึงระดับ ปวช. สาขาวิชาพาณิชยกรรม ท่านก็ได้ทำงานอยู่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จวบจนอายุย่างเข้า ๒๒ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ณ พระอุโบสถวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี โดยมีพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ ๓ กรกฏาคม ๒๕๑๙

การศึกษาปฏิบัติธรรม

เมื่ออุปสมทบเป็นพระภิกษุแล้ว ได้อยู่ศึกษาปฏิบัติธรรมตลอดจนข้อวัตรปฏิบัติกับหลวงปู่ชาอย่างใกล้ชิดเป็นเวลาหลายปี ในระหว่างนี้ หากมีเวลาว่างก็ออกจาริกธุดงค์ ไปตามจังหวัดต่าง ๆ จนได้รับความสงบเยือกเย็น และสัมผัสรสแห่งธรรมอันเป็นสภาวะธรรมชาติ

เมื่อปี ๒๕๒๔ ท่านได้ไปช่วยสร้างสำนักสงฆ์ที่ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี และต่อมาเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ ก็ได้มาบุกเบิกสร้างสำนักสงฆ์สุภัททะบรรพตหรือวัดมาบจันทร์จนถึงปัจจุบัน และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสเมื่อปี ๒๕๓๙

ปัจจุบัน

เมื่อวัดมาบจันทร์มีความเจริญมั่นคงขึ้นเรื่อย ๆ ได้มีผู้มีจิตศรัทธาถวายที่ดินในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อสร้างเป็นสำนักสาขา โดยอยู่ในความดูแลของท่านพระอาจารย์อนันต์ ซึ่งเนื้อที่มีทั้งในจังหวัดระยอง ชลบุรี นครราชสีมา เชียงใหม่ อุบลราชธานี กาญจนบุรี สระบุรี เมืองเมลเบิร์นและซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เพื่อให้พระภิกษุสามเณรได้มีโอกาสเปลี่ยนสถานที่ภาวนาตามจริตนิสัยของตนเอง

วัดป่าโพธิศรัทธา เริ่มต้นเปิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555 นำโดยท่านพระอาจารย์อนันต์ อกิญฺจ-โน พร้อมด้วยสามเณร 9 รูป และอุบาสิกาอีก 25 คน เป็นเวลา 7 วัน

วัตถุประสงค์

เพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมอย่างสมบูรณ์ วัดจึงยังต้องดำเนินการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างสำหรับพระสงฆ์ รวมถึงกุฏิและศาลา ซึ่งต้องอาศัยความอนุเคราะห์จากพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายในการพัฒนาสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในวัด

1. กุฏิ สำหรับพระภิกษุและญาติโยมในการปฏิบัติธรรม

2. หอฉัน สำหรับให้ญาติโยมถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์และเป็นที่ฉันภัตตาหารของพระสงฆ์ตามกิจวัตรประจำวัน

3. โรงครัว เพื่อการเตรียมภัตตาหารและอาหารสำหรับพระภิกษุและผู้ที่เข้ามาปฏิบัติธรรม

4. ศาลาธรรม สำหรับการทำวัตรเช้า-เย็น เจริญจิตตภาวนาของพระภิกษุและผู้ที่เข้ามาปฏิบัติธรรม

5. หอพัก สำหรับผู้ที่เข้ามาปฏิบัติธรรมระยะสั้น

6. เจดีย์ สามารถสร้างศรัทธาในพระรัตนตรัยให้แก่ญาติโยมได้เป็นอันดี การมีส่วนร่วมในสร้างเจดีย์ถือว่าเป็นบุญอันมหาศาล

พระพุทธศาสนาในเมืองซิดนีย์

วัดป่าเป็นสถานที่ส่งเสริมการปฏิบัติธรรม เพราะมีสภาพที่เป็นป่าจึงเป็นสถานที่เหมาะสำหรับพระสงฆ์ที่จะดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย และอุทิศตนให้กับการศึกษาปฏิบัติธรรม สถานที่แห่งนี้เปิดโอกาสให้ญาติโยมสามารถสนับสนุน สร้างคุณงามความดี และพัฒนาจิตใจของตนให้มีความสุขสงบยิ่งขึ้น ญาติโยมยังสามารถมาวัดป่าซึ่งถือเป็นศูนย์รวมจิตใจอีกแห่งหนึ่งของพุทธศาสนิกชนเพื่อสดับฟังธรรมะและพัฒนาจิตใจให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้นไป

วัดป่าโพธิศรัทธา มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับวัดมาบจันทร์และพระเถระทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก จึงมีโอกาสที่จะได้รับความเมตตาจากครูบาอาจารย์ที่มาเยี่ยมเยียนอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเยี่ยมเยียนแบบช่วงเวลาสั้น ๆ หรืออยู่เป็นระยะยาวก็ตาม

ถึงแม้ว่าในตัวเมืองซิดนีย์จะมีวัดสายนิกายเถรวาทอยู่เป็นจำนวนหนึ่ง แต่การนำเสนอหลักธรรมคำสอนย่อมแตกต่างกันออกไปตามกลุ่มคนที่ต่างเชื้อชาติหรือต่างระดับความพร้อมของแต่ละบุคคลในการฝึกฝนปฏิบัติ แต่ด้วยข้อวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด กอปรกับสถานที่อันวิเวก เชื่อว่าวัดป่าโพธิศรัทธาจะได้รับความศรัทธาและการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากผู้คนไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใดสัญชาติใดก็ตาม

ที่ตั้งวัดอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองซิดนีย์มากนัก อีกทั้งยังใกล้กับเมืองวูลองกองซึ่งขณะนี้ยังไม่มีวัดสายเถรวาท จึงหวังว่าวัดป่าแห่งนี้จะได้รับความศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างดี

นับเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีแล้ว ที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมโพธิกุสุมา ได้เผยแผ่ธรรมะให้แก่พุทธบริษัทในเมืองซิดนีย์ ระยะเวลาที่ผ่านมานี้ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พระพุทธศาสนาได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากผู้คนทุกวัยและทุกสัญชาติ

เมือง ประชากร พุทธศาสนิกชน (ร้อยละ) (พ.ศ. 2539) พุทธศาสนิกชน (ร้อยละ) (พ.ศ. 2549)
ซิดนีย์

วูลองกอง

4,119,190

263,537

2.0%

0.6%

3.7%

0.9%

วัดป่าสร้างความสมถะอันเอื้อต่อการฝึกฝนจิต ซึ่งสาธุชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้

หากมุ่งเดินทางจากเมืองซิดนีย์มาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง  หรือจากเมือง วูลองกอง ประมาณ 20 นาที  ท่านผู้มาเยือนจะได้รับการต้อนรับด้วยสันติสุขและความเงียบสงบสงัดจากสถานที่ ธรรมชาติโดยรอบ ซึ่งประกอบไปด้วยป่าเขาลำเนาไพร แหล่งน้ำ ภูผา และภาพของพระป่าสายหลวงปู่ชา ทำให้เกิดความรู้สึกว่า นี่แหละคือวัดป่าที่แท้จริง ที่ยังคงปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระสัมมาพุทธเจ้า ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม

วัดให้โอกาสที่หาได้ยากสำหรับผู้ตั้งใจมาปฏิบัติฝึกฝนตนเอง ด้วยพื้นที่ที่ราบเรียบและป่าที่กว้าง-ขวางช่วยอำนวยความสมถะและวิเวกสำหรับการฝึกปฏิบัติ ด้านหลังของวัดในระยะ 80 เมตร ยังมีเนื้อที่ที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ ลงมาถึงแม่น้ำคาตาแล็กท์ที่เป็นแหล่งน้ำของชาวเมืองซิดนีย์ซึ่งมีความยาวถึง 23 กิโลเมตร

มีถ้ำมากมายและชะง่อนผาที่สร้างความเป็นสัปปายะ ให้ความวิเวกสงบสงัด เหมาะสำหรับการฝึกปฏิบัติกรรมฐานภาวนา เสนาสนะที่มีขนาดกะทัดรัดและรูปแบบที่เรียบง่าย ไม่มีสิ่งฟุ่มเฟือย ไม่มีไฟฟ้าหรือเครื่องทำน้ำร้อน ดูเรียบง่าย เพียงพอสำหรับพระป่าที่จะฝึกฝนปฏิบัติและพักผ่อน

การบิณฑบาต ข้อวัตรปฏิบัติที่ดีงาม

พระสงฆ์ที่วัดป่าโพธิศรัทธาจะออกบิณฑบาตเวลา 7.30 น. ไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งวิถีการดำเนินชีวิตเยี่ยงนี้เป็นการคงไว้ซึ่งธรรมเนียมปฏิบัติที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญและทรงพาดำเนินมา ทั้งนี้ยังเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์อันดีระหว่างพุทธศาสนิกชนกับหมู่ชนใกล้เคียงอีกด้วย

วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2556 วัดป่าโพธิศรัทธา ได้ทำพิธีประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ซึ่งได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 แห่งประเทศไทย เนื่องในโอกาสที่จะทรงมีพระชันษาครบ 100 ปี แต่หลังจากนี้อีกเป็นเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ พระองค์ท่านก็สิ้นพระชนม์ หลงเหลือไว้ซึ่งปณิธานอันมั่นคงที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาถึงประเทศออสเตรเลีย 

18 เดือนหลังจากดำเนินการก่อสร้าง สถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปได้เสร็จสิ้น สระน้ำมุจลินทร์ มีลักษณะรูปทรงเป็นรูปแปดเหลี่ยม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 220 เมตร ประกอบด้วยวงโดยรอบขนาดย่อม ๆ 8 วง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงอริยมรรคมีองค์ 8 อันเป็นเส้นทางอันประเสริฐ

ทุกวันนี้ ผู้มาเยี่ยมเยือนจะใช้สระน้ำมุจลินทร์เป็นสถานที่ทำการสักการะบูชาและปฏิบัติภาวนา  มีผู้คนเป็นจำนวนมากที่เดินจงกรมไปโดยรอบ และมีบางส่วนที่เดินจงกรมได้ถึง 108 รอบพร้อมกับ     การถือเนสัชชิกคือการไม่นอนตอนคืน

พิธีศักดิ์สิทธิ์ของสระน้ำมุจลินทร์ ปี พ.ศ. 2557

จากรูปเรียงลำดับจากซ้ายไปขวา : คุณวศิน เรืองประทีปแสง อัครราชทูตไทย ณ กรุงแคนเบอร์รา ออสเตรเลีย, คุณจอห์น ยี ผู้อำนวยการ Hong Australia Corp., ฯพณฯ ธีรเทพ พรหมวงศานนท์ กงสุลใหญ่ประเทศไทย, คุณนีน่า ยี ประธานศูนย์พุทธศาสนิกชนและวิปัสสนากรรมฐาน โพธิกุสุมา, ฯพณฯ จิระชัย ปั้นกระษิณ  เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา ออสเตรเลีย, คุณสุวิทย์ คุณกิตติ อดีตรองนายกรัฐมนตรีประเทศไทย, ฯพณฯ ด็อกเตอร์ ยายาน มัลยานา กงสุลใหญ่ประเทศอินโดนีเซีย

พระราชภาวนาวิกรม (หลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธัมโม) เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี และเป็นประธานสงฆ์สายหลวงปู่ชา

งานพิธีวันมาฆบูชา เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

พระราชสุเมธาจารย์ (หลวงพ่อสุเมโธ)

วันครบรอบ 4 ปี เมษายน พ.ศ.2559

” เราต้องการที่จะให้พรกับทุก ๆ คน ที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้วยกุศลจิตในการร่วมกันก่อตั้งวัดป่าโพธิศรัทธา และนี่เป็นบางสิ่งบางอย่างที่คุ้มค่าที่จะให้การสนับสนุนและคุ้มค่าที่จะได้เรียนรู้ “

งานวันครบรอบ 4 ปี วัดป่าโพธิศรัทธา นำโดยพระสงฆ์จำนวน 10 รูป โดยมีพระเทพศีลาภรณ์ (ท่านเจ้าคุณพระมหาสมัย) พระเถระผู้ใหญ่ฝ่ายธรรมยุตในประเทศออสเตรเลีย ผู้มีอุปการะคุณมานาน เป็นประธาน และพระเถระผู้มีเกียรติ คือ พระราชสุเมธาจารย์ (หลวงพ่อสุเมโธ) และพระอาจารย์กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดป่าพุทธโพธิวัน เมลเบิร์น ออสเตรเลีย

พระราชสุเมธาจารย์ (หลวงพ่อสุเมโธ) เป็นพระชาวตะวันตกรูปแรกและอาวุโสที่สุดของหลวงปู่ชา ท่านเป็นผู้ก่อตั้งวัดป่านานาชาติ (จังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทย) และก่อตั้งวัดป่าจิตตวิเวกและวัดป่าอมราวดี ในประเทศอังกฤษ ท่านเป็นผู้นำในการเผยแผ่ขนบธรรมเนียมการปฏิบัติของวัดป่าไทยในประเทศตะวันตก

งานวันครบรอบได้รับการสนับสนุนจากชาวพุทธมากกว่า 400 คน ที่มาเข้าร่วมในงานพิธี โดยมีการตักบาตร รับพรจากพระสงฆ์ ทอดผ้าป่า ฟังธรรมจากหลวงพ่อสุเมโธ และทำประทักษิณเวียนเทียนโดยรอบสระน้ำมุจลินทร์

พิธีทอดกฐิน

งานทอดกฐินเป็นพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาที่จัดให้มีขึ้นเพียงปีละครั้งในช่วง 1 เดือน (ปลายเดือนตุลาคม-ต้นเดือนพฤศจิกายน) หลังจากพระสงฆ์จำนวนอย่างน้อย 5 รูป จำพรรษาครบ 3 เดือนในช่วงเข้าพรรษา พิธีที่มีเพียงปีละ 1 ครั้งนี้เป็นพิธีให้ทานที่ใหญ่ที่สุดในรอบปีของพระพุทธศาสนา กลุ่มของคฤหัสถ์จะมาร่วมกันเพื่อแสดงความศรัทธาเลื่อมใสต่อหมู่สงฆ์ด้วยการถวายผ้ากฐินและบริวารกฐิน หลังจากฤดูฝนพระสงฆ์จะเริ่มต้นออกธุดงค์อีกครั้งระหว่างสังฆาวาส เพื่อดำรงอัตภาพอยู่อย่างภิกษุเที่ยวไป

“ผู้มีปัญญารู้ความประสงค์ของผู้ขอ
เป็นผู้ปราศจากความตระหนี่
ย่อมให้ทานในกาลที่ควรให้
ทานที่ให้ในพระอริยะผู้ซื่อตรงผู้คงที่
ย่อมเป็นทักษิณาที่ไพบูลย์
ทำให้เขามีใจผ่องใส

ชนเหล่าใดอนุโมทนาหรือขวนขวายในทักษิณานั้น
เพราะการอนุโมทนาหรือขวนขวายของชนเหล่านั้น
ทักษิณาย่อมมีผลไม่พร่อง
แม้พวกเขาก็เป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ
เพราะฉะนั้น ผู้มีจิตไม่ท้อถอย
จึงควรให้ทานในเขตที่มีผลมาก
เพราะบุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า”

– พุทธโอวาท